
พระเจ้ากรุงสยามกับนักล่าอาณานิคม
ตอนที่ 1: เงินเก็บของรัชกาลที่ 3 ช่วยชาติพ้นภัย
………………………………………………………………….
นับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตก จนถึงยุคกรุงธนบุรี ประเทศไทยเผชิญวิกฤตทางการเงินอย่างหนัก ถึงขั้นมีข่าวลือว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินต้องกู้เงินจากพระเจ้ากรุงจีนเพื่อกอบกู้บ้านเมือง
เมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ราชวงศ์จักรี ฐานะทางการเงินของรัฐบาลยังคงย่ำแย่ ในรัชกาลที่ 1 และ 2 รายได้ไม่เพียงพอ ถึงขั้นที่ในบางปี วังหน้ากับวังหลังเกิดความขัดแย้ง เพราะไม่มีเงินหลวงเพียงพอสำหรับแจกจ่าย
ในรัชกาลที่ 4 ทรงกล่าวถึงปัญหาในยุคก่อนหน้านั้นว่า…
“เมื่อไรสำเภาเสียหาย หรือสินค้าสำเภาราคาตกมาก กำไรก็น้อย ไม่พอแจกเบี้ยหวัด ก็บอกลดกึ่งจำนวนบ้าง หรือจำนำเก่าแบ่งสามส่วน ลดส่วนหนึ่งบ้าง บางคราวพระราชทานผ้าลายดีแทนเงินบ้าง…”
ความหมายก็คือ รัฐบาลแทบไม่มีเงินหลวงพอจ่ายเงินเดือนข้าราชการ
………………………………………………………………….
ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์สวรรคตอย่างกะทันหัน ยังไม่ทันตั้งรัชทายาท เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งมีศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าชั้นสูงจากพระมเหสีแท้เพิ่งอุปสมบท ขณะที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แม้จะเป็นโอรสจากเจ้าจอม แต่มีประสบการณ์ด้านราชการและเศรษฐกิจโดดเด่น โดยเฉพาะการค้าต่างประเทศ
ขุนนางนำโดยตระกูลบุนนาคจึงมีมติถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จนได้เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3
………………………………………………………………….
เมื่อครองราชย์ รัชกาลที่ 3 ทรงส่งเสริมการค้ากับทั้งเอเชียและตะวันตก โดยเฉพาะจีน รวมถึงลงนามใน สนธิสัญญาเบอร์นี กับอังกฤษ (พ.ศ. 2369) และทำสนธิสัญญาฉบับแรกกับสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2375) ทำให้ไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล
พระองค์ทรงไม่แต่งตั้งพระมเหสี จึงไม่มีรัชทายาทที่ชัดเจน จนก่อนสวรรคตราว 10 วัน ขุนนาง (โดยเฉพาะตระกูลบุนนาค) ได้ไปนิมนต์เจ้าฟ้ามงกุฎให้ลาสิกขา ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4
เจ้าฟ้ามงกุฎผู้เคร่งในธรรม ได้ศึกษาทั้งบาลี สันสกฤต ภาษาอังกฤษ และวิทยาการตะวันตก จนกลายเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในเอเชียที่สามารถสื่อสารกับชาวตะวันตกด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว
ก่อนสวรรคต รัชกาลที่ 3 ทรงตรัสว่า พระองค์มีเงินสะสมอยู่ 4 หมื่นชั่ง (ประมาณ 3 ล้านบาทในเวลานั้น) และทองคำอีก 100 ชั่ง
พระองค์ขอให้กันไว้ 1 หมื่นชั่งเพื่อสร้างวัดที่ยังสร้างไม่เสร็จ และยกอีก 3 หมื่นชั่งเศษไว้ให้รัชกาลต่อไปใช้ในราชการแผ่นดิน
เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงตรวจสอบพบว่า ความจริงมีเงินมากกว่า 4.5 หมื่นชั่ง และทองคำเกิน 200 ชั่ง ทรงนำ 1 หมื่นชั่งไปใช้สร้างและซ่อมแซมวัดสำคัญ เช่น วัดมหาธาตุ วัดชนะสงคราม วัดราชโอรส และวัดอรุณ
………………………………………………………………….
ปัญหาทางการเงินของชาติเริ่มคลี่คลายเมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงใช้ความสามารถทางการค้า สร้างรายได้เข้าสู่แผ่นดินจนเกิดเงินคงคลังไว้ใช้ยามคับขัน
พระองค์ยังเคยตรัสเตือนว่า…
“สงครามกับเพื่อนบ้านจะหมดไป แต่จงระวังมหาอำนาจตะวันตกให้ดี”
พระองค์จึงทรงเก็บเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อ ไถ่บ้านเมือง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
และสิ่งที่รัชกาลที่ 3 ทรงคาดการณ์ไว้ก็เกิดขึ้นจริง ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ เกิดกรณี ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสนำเรือรบบุกคุกคามสยามจนต้องชำระเงินชดเชยกว่า 3 ล้านฟรังก์ (ประมาณ 1.6 ล้านบาท) ทั้งที่ไทยไม่ได้เป็นฝ่ายผิด
เงินที่นำไปจ่ายครั้งนั้นคือ “เงินถุงแดง” ที่รัชกาลที่ 3 ทรงเก็บไว้ในพระแท่นบรรทม เรียกว่า “เงินสำรองยามบ้านเมืองยุคเข็ญ” ตามพระราชประสงค์ว่า…
“จงเอาไว้ใช้ในการแผ่นดินต่อไปเถิด”
เด็กรุ่นใหม่ ที่คลั่งแนวคิดล้มเจ้า เคยรู้หรือไม่ว่า เงินส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 3 เคย ช่วยไถ่บ้านเมืองจากภัยคุกคามของฝรั่งเศส เมื่อกว่าร้อยปีก่อน
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ รัชกาลที่ 3, 4 และ 5 ต่างได้ขึ้นครองราชย์ผ่านการ เห็นชอบของขุนนาง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “การเลือกตั้งโดยสภาขุนนาง” เป็น ต้นแบบประชาธิปไตยยุคต้น ของไทยก็ว่าได้
………………………………………………………………….
ภาพประกอบ: ภาพลายเส้น ทหารฝรั่งเศสกำลังขนเงินใส่ถังไม้ลงเรือรบ
………………………………………………………………….
โปรดติดตามตอนต่อไป
อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง